วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

13 แนวทางชุมชนปลอดภัย

13 แนวทางชุมชนปลอดภัย

ชุมชนปลอดภัย (Self Communities)
        เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการดำเนินงานสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก  โดยชุมชนที่จะเข้าร่วมในเครื่อข่ายชุมชนปลอดภัยนั้นอาจเป็นชุมชนระดับหมู่บ้าน จังหวัด หรืออื่นๆแต่ที่สำคัญ ชุมชนต้องแสดงความตั้งใจอย่างแท้จริงในการดำเนินงาน  โดยใช้หลัก  13 แนวทางชุมชนปลอดภัย  ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มต่างๆในชุมชนร่วมมือกัน..เพื่อผลระยะยาว
การดำเนินงานป้องกันการบาดเจ็บต้องมีจุดเริ่มมาจากความสนใจและความต้องการของคนในชุมชนนั้นๆอย่างแท้จริงโดยที่คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งร่วมคิด  วางแผน  ทำงานและการติดตามผลการดำเนินงาน  ซึ่งเป็นในลักษณะการจัดตั้งกลุ่มพหุภาพ(Cross SectorialGroup) ในระดับชุมชน หมายถึง  การรวมตัวกันของกลุ่มประชาชนหรือกลุ่มองค์กรต่างๆที่มีอยู่แล้วในชุมชน เช่น ผู้นำชุมชน  ผู้นำท้องถิ่น อสม. กลุ่มแม่บ้านฯลฯ  การดำเนินงานในระยะแรกเน้นการรวมตัวกันของกลุ่มพหุภาพ
2.  เชื่อมโยงหน่วยงานภายนอกร่วมแก้ปัญหา
การประสานงาน  คือ  กลยุทธ์สำคัญของความสำเร็จ  เริ่มจากชุมชนสร้างเครือข่ายในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างบุคคล  กลุ่มในชุมชนของตน เช่น คณะกรรมการชุมชน  กลุ่มครอบครัว ฯลฯ  ไปจนถึงการประสานงานกับองค์กรภายนอกที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น หน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค  งานสาธารณสุข  มูลนิธิ  สมาคมต่างๆ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน
3.  ชุมชนสนใจแก้ปัญหาการบาดเจ็บทุกรูปแบบ
กระบวนการจัดการกับปัญหาการบาดเจ็บและสร้างเสริมความปลอดภัยนั้นชุมชนต้องให้ความสนใจในการแก้ปัญหาการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ  เช่น การตกจากที่สูง  จมน้ำ  ไฟฟ้าดูด ฯลฯและการบาดเจ็บโดยตั้งใจ เช่น เด็กถูกทำร้ายร่างกาย ฯลฯ ซึ่งต้องพิจารณาตามลำดับความสำคัญโดยวิเคราะห์จากสถิติและอุบัติการณ์ในชุมชน
4.  อย่าละเลยความเสี่ยง
ชุมชนให้ความสนในเป็นพิเศษกับกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กในครอบครัวยากจน  เด็กพิการ  เด็กเร่ร่อน ฯลฯ เด็กเหล่านี้มีภาวะความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสูงกว่าเด็กทั่วไป  เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพ  ศักยภาพของผู้ดูแลเด็ก รวมถึงข้อจำกัดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5.  ชุมชนมีระบบการเฝ้าระวังการบาดเจ็บที่ชัดเจน
มีการสร้างระบบการเฝ้าระวังการบาดเจ็บในชุมชน  โดยมีการบันทึกการบาดเจ็บ ประโยชน์ที่ได้จากการบันทึกมีดังนี้
      -  ชุมชนใช้การบันทึกในการประเมินขนาดของปัญหาในแบบต่างๆ
      -  ค้นหาสาเหตุของปัญหานั้นๆ  คือ ปัจจัยเสี่ยงของการบาดเจ็บแบบต่างๆ
      -  ใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานต่างๆของชุมชนในการป้องกันการบาดเจ็บ
      -  นำเรื่องราวของการบาดเจ็บแต่ละรายมาเผยแพร่แก่ประชาชนในชุมชน เพื่อเป็นบทเรียนที่มีคุณค่า นำไปสู่การสร้างจิตสำนึกในการป้องกันการบาดเจ็บ
6.  มีระบบการเดินสำรวจความปลอดภัย
มีระบบการสำรวจความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเสี่ยง
      -  ลักษณะพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ผู้ปกครองขาดความระมัดระวังในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน การเลือกซื้อของเล่นให้เด็ก  การขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมาฯลฯ
      -  ความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อม เช่น  มีสุนัขจรจัดหรือไม่  สนามเด็กเล่น  วัสดุ  อุปกรณ์  มีความปลอดภัยเพียงไร
7.  ต่อต้านพฤติกรรมเสี่ยงและผลิตภัณฑ์อันตราย
ชุมชนร่วมกันต่อต้านพฤติกรรมเสี่ยงและสิ่งแวดล้อมอันตราย ดังนี้
      -  ต่อต้านพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก  อันจะนำไปสู่การบาดเจ็บในเด็ก
      -  ต่อต้านผลิตภัณฑ์เสี่ยงและสิ่งแวดล้อมอันตรายที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ
ซึ่งชุมชนต้องให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องของอันตรายจากความเสี่ยงต่างๆและผนวกเข้ากับวิธีการป้องกันและแก้ไข
8.  ส่งเสริมการใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย
ชุมชนมีการสนับสนุนการใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยต่างๆ เช่น หมวกกันน๊อค  ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กในรถยนต์  จักรยานยนต์  เครื่องตรวจจับควันไฟ ฯลฯ
9.  ชุมชนจัดการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้
ชุมชนมีกระบวนการฝึกอบรมที่เหมาะสมเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่องของการป้องกันควบคุมการบาดเจ็บในเด็ก  วิธีการปฐมพยาบาลและการปฏิบัติการณ์กู้ชีพเบื้องต้น
10.  เตรียมพร้อมรับภาวะฉุกเฉิน
มีการเตรียมความพร้อมรับภาวะฉุกเฉินต่าง ๆที่เกิดขึ้นในชุมชน  ไม่ว่าจะเป็นอัคคีภัย วาตภัย  อุบัติเหตุ  ซึ่งชุมชนต้องมีระบบการจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหัน เช่น  การรักษาพยาบาลฉุกเฉินในชุมชนและการส่งต่อ เป็นต้น
11.  ใช้ทรัพยากรของชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สามารถดำเนินการระยะยาวโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ปกติในชุมชน เช่น บุคลากร  งบประมาณฯลฯ ใช้สิ่งเหล่านี้ให้เกิดคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่องานสร้างเสริมความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพราะในแต่ละชุมชนนั้นมีกระบวนการ ค่านิยม  ทัศนคติที่แตกต่างกัน
12.  มีตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน
มีการประเมินภายในชุมชนโดยกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสมสำหรับชุมชนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือวัดผลการดำเนินงาน  ซึ่งอาจใช้เกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยขั้นต่ำที่เป็นเกณฑ์ชี้วัดความสามารถของการดูแลเด็กและครอบครัวหรือประเมินผลข้อมูลจากการสำรวจการบาดเจ็บและการเฝ้าระวังการบาดเจ็บมาเป็นตัวชี้วัดของชุมชนเอง  รูปแบบตัวชี้วัดในชุมชน ได้แก่
      -  ด้านสิ่งแวดล้อม  เช่น มลพิษ  สารเคมี แหล่งเสื่อมโทรม ฯลฯ
      -  ด้านผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น  การบาดเจ็บจากเครื่องเล่นที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานฯลฯ
      -  ด้านการป้องกันแก้ไข เช่น วิธีการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม  ให้ความรู้แก่คนในชุมชน การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ฯลฯ
13.  องค์ความรู้ชุมชน..สำคัญที่การปฏิบัติและขยายผล
มีการรวบรวมความรู้ประสบการณ์ที่ได้จากการดำเนินงานภายในชุมชนเผยแพร่สู่ชุมชนอื่นเพื่อให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานสร้างเสริมความปลอดภัยซึ่งอาจใช้เทคนิคการประชาสัมพันธ์เข้าช่วย เช่น การจัดประชุมชุมชนต่างๆ  การพูดในที่สาธารณะ  การจัดนิทรรศการหรือชุมชนประสานกับทางสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์  วิทยุ  โทรทัศน์ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการเข้าใจที่ตรงกันในวัตถุประสงค์ เกิดกระบวนการผลักดันเข้าสู่นโยบายระดับชาติต่อไป

หน่วยงานที่ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือด้านความปลอดภัย

หน่วยงานที่ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือด้านความปลอดภัย
               หน่วยงานที่ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือด้านความปลอดภัยแก่ประชาชนมีมากมายหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานในสังกัดภาครัฐบาลและสังกัดภาคเอกชน
หน่วยงานที่ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือด้านความปลอดภัยที่สำคัญ มีดังนี้

ภาพ สถานีตำรวจ
                1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีภารกิจหลักในการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน และรักษาความสงบเรียบร้อยแก่สังคม นักเรียนสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตามความเหมาะสม เช่น
              
 - กองบังคับตำรวจจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่ในการตรวจและจัดการจราจร ควบคุมเหตุฉุกเฉิน สอบสวนเกี่ยวกับอุบัติเหตุจราจร และตำรวจจราจรในสังกัดยังคอยทำหน้าที่ช่วยเหลือให้ความปลอดภัยและความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้รถ ใช้ถนน รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่พิเศษเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินด้วย
              
 - กองบังคับการตำรวจทางหลวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมกำกับดูแล รักษาทางหลวงแผ่นดิน อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยในด้านการจราจรรวมทั้งทำหน้าที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในเขตทางหลวง และคอยให้บริการช่วยเหลือผู้ใช้ทางและประชาชนทั่วไป

ภาพ สถานีตำรวจทางหลวง

                 นอกจากหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าวแล้ว นักเรียนสามารถร้องขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยอันตรายขึ้นกับตนเองหรือพบเห็นผู้ประสบเหตุคนอื่นๆ ได้ โดยติดต่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานีตำรวจใกล้บ้านหรือสถานีตำรวจภายในชุมชนของตนเองหรืออาจโทรศัพท์ที่หมายเลขฉุกเฉินต่อไปนี้ (1) แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย โทรศัพท์ 191 (2) แจ้งเหตุศูนย์การควบคุมการจราจร โทรศัพท์ 197 (3) แจ้งเหตุเพลิงไหม้ โทรศัพท์ 199 (4) แจ้งเหตุ จส.100 โทรศัพท์ 1137 และ (5) แจ้งเหตุการป่วยหรืออุบัติเหตุฉุกเฉินโดยการแจ้งผ่านไปที่หน่วยงานกูชีพนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1669 หรือหน่วยกู้ชีพโรงพยาบาลวชิรพยาบาล โทรศัพท์ 1554 หรือศูนย์ส่งกลับและรถพยาบาลโรงพยาบาลตำรวจ โทรศัพท์ 0-2255-1133 หรือมูลนิธีป่อเต็กตึ้ง โทรศัพท์ 0-2226-4444-8 หรือ มูลนิธิร่วมกตัญญูโทรศัพท์ 0-2249-6620 นอกจากนี้การแจ้งเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในเรื่องการบริโภคสามารถแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แจ้งเหตุผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โทรศัพท์ 1556 และศูนย์ร้องเรียนผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โทรศัพท์ 1166

ภาพ มูลนิธีป่อเต็กตึ้ง

                  2. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีภารกิจหลักในการจัดทำแผนแม่บทวางมาตรการส่งเสริม สนับสนุนการป้องกัน บรรเทาและฟื้นฟูหลังเกิดภัย โดยกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย สร้างระบบป้องกัน เตือนภัยและฟื้นฟูหลังเกิดภัย รวมถึงติดตามประเมินผล เพื่อให้หลักประกันในด้านความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นักเรียน และบุคคลทั่วไปที่ต้องการปรึกษา และขอความช่วยเหลือด้านความปลอดภัยสามารถติดต่อได้ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โทรศัพท์ 0-2243-0020-27 หรือที่เว็บไซต์ http://www.disaster.go.th
              
   3. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรัฐบาลสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีภารกิจที่สำคัญคือเสนอนโยบายและแผนการป้องกันอุบัติภัย เป็นศูนย์ประสานงานด้านวิชาการ สนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยที่เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัยและสาธารณภัย และเป็นศูนย์กลางข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับอุบัติภัยรวมทั้งมีหน้าที่รณรงค์เผยแพร่งานป้องกันอุบัติภัยแก่ประชาชน นักเรียน และบุคคลทั่วไปที่สนใจเรื่องความปลอดภัยต่างๆ สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่เว็บไซต์ http://www.safety.thaigov.net

กฎหมายคุ้มครองความปลอดภัย

กฎหมายคุ้มครองความปลอดภัย
               กฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีความปลอดภัย เพราะกฎหมายดังกล่าวช่วยควบคุม บังคับให้ประชาชน นายจ้าง นิติบุคคล หรือองค์กรต่างๆ ได้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของกฎหมาย ส่งผลทำให้เกิดพฤติกรรมความปลอดภัยในสังคมโดยส่วนรวม
              
 กฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยมีอยู่ด้วยกันหลายฉบับ ซึ่งในบทเรียนนี้จะกล่าวเฉพาะกฎหมายที่สำคัญๆ ดังนี้
          
     1. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่บัญญัติสิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการใช้แรงงาน และการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อให้ลูกจ้างทำงานด้วยความปลอดภัย มีสุขภาพอนามัยที่ดี ได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการตามสมควร
              
 กฎหมายนี้มี 116 มาตรา แบ่งเป็น 16 หมวด ซึ่งจะขอกล่าวเฉพาะหมวดที่มีความสำคัญต่อความปลอดภัยโดยตรงของลูกจ้าง ดังนี้
              
 หมวดที่ 2 ว่าด้วนการใช้แรงงานทั่วไป
ให้นายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้มีการประกาศหยุดตามประเพณีให้ทราบล่วงหน้า ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน ซึ่งรวมวันแรงงานแห่งชาติ ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า 6 วัน และมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด
              
 หมวดที่ 3 ว่าด้วยการใช้แรงงานหญิง
กำหนดประเภทของการทำงานที่ห้ามมิให้ลูกจ้างหญิงทำงานที่ส่งผลเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต รวมถึงการกำหนดการทำงานของหญิงมีครรภ์ และสิทธิลาคลอด
              
 หมวดที่ 4 ว่าด้วยการใช้แรงงานเด็ก
ห้ามมิให้จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง และการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องแจ้งพนักงานตรวจแรงงาน จัดทำบันทึกสภาพการทำงาน แจ้งพนักงานเลิกจ้าง รวมทั้งกำหนดประเภทงานที่ห้ามจ้างเด็กทำงาน และข้อกำหนดในการทำงาน
              
 หมวดที่ 8 ว่าต้องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย เพื่อเสนอความคิดเห็นรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานที่เกี่ยวข้อง และให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานการบริหารในเรื่องความปลอดภัย

            
   2. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541
              
 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองความปลอดภัยในการบริโภค การซื้อและการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสินค้าต่างๆ รวมถึงสิทธิของผู้บริโภคในการร้องเรียน และเรียกร้องความเป็นธรรมที่เกิดจากการซื้อและใช้สินค้าที่ไม่ปลอดภัยและไม่เป็นธรรม 
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภคที่น่าสนใจมีดังนี้
              
 - การกำหนดแต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับอันตรายจากการใช้สินค้า หรือได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งทำหน้าที่ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
              
 - การกำหนดการควบคุมฉลากของสินค้า ในมาตรา 30 และมาตรา 31 โดยกำหนดให้สินค้ามีการแสดงฉลาก เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในการได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินค้า รวมถึงลักษณะของรายละเอียดของตัวฉลากที่สินค้าแต่ละประเภทพึงมี เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

              
  3. พระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2542
              
 พระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย                 ซึ่งกำหนดให้ประชาชนและหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ได้อย่างปลอดภัยและเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม
              
 พระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
              
 มาตรา 14 ในกรณีฉุกเฉินเมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการหรือสั่งให้พนักงานดังเพลิงหรืออาสาดับเพลิงดำเนินการดังต่อไปนี้
              
 1. กำหนดบริเวณหรือสถานที่ที่อาจเกิดเพลิงไหม้
              
 2. จัดระเบียบการจราจรชั่วคราวในบริเวณที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันอัคคีภัย
              
 3. ปิดกั้นมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณหรือสถานที่ที่กำหนด
              
 4. เคลื่อนย้ายหรือทำลายสิ่งที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้
              
 มาตรา 23 ผู้ใดพบเพลิงเริ่มไหม้ให้แจ้งต่อเจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาอาคาร หรือสถานที่ที่เป็นต้นเพลิงเพื่อทำการดับเพลิง ถ้าไม่ปรากฏตัวบุคคลดังกล่าว และเพลิงนั้นอยู่ในสภาพที่ตนสามารถดับได้ ก็ให้ทำการดับเพลิงนั้นทันที ถ้าเพลิงนั้นอยู่ในสภาพที่ตนไม่สามารถดับได้ ให้รีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบโดยด่วน
              
 มาตรา 35 ผู้ใดแจ้งเหตุหรือให้อาณัติสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               มาตรา 36 ผู้ใดไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำลาย เคลื่อนย้าย กีดขวาง หรือทำให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้อาณัติสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เครื่องดับเพลิง หรือท่อส่งน้ำดับเพลิงต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 1 น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ