วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ตัวอย่างการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน

 ตัวอย่างการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน
                การสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชนส่งผลดีต่อประชาชนที่อาศัยในชุมชน ช่วยทำให้บุคคลมีสวัสดิภาพในการดำรงชีวิต ปราศจากการเจ็บป่วย และการได้รับอันตรายจากภัยอันตรายต่างๆ ซึ่งนักเรียนสามารถนำตัวอย่างการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชนต่อไปนี้ มาปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับสภาพปัญหา และความต้องการของชุมชนตนเอง เพื่อการเป็นชุมชนที่ปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดีของทุกคน

             
 1. กิจกรรมหรือโครงการด้านความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ เช่น
             
 - กิจกรรมรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยในวันปีใหม่ เป็นโครงการกิจกรรมด้านความปลอดภัยของเครือข่ายชุมชนปลอดภัย ซวยสวนเงิน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนกับเด็กและคนในชุมชนในวันปีใหม่ และเพื่อสร้างความตระหนักในการขับขี่อย่างปลอดภัย มีแนวทางการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ เช่นจัดป้ายรณรงค์เพื่อเผยแพร่วิธีการป้องกันอุบัติเหตุ การจัดทำเอกสารเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการขับขี่อย่างปลอดภัยการจัดการแข่งขันตอบคำถามเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่ เป็นต้น

ภาพ กิจกรรมรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยในวันปีใหม่
 

              - โครงการจักรยานปลอดภัย สุขภาพสดใส เป็นโครงการสร้างเสริมความปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางการจราจร โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่สนับสนุนให้เกิดกลไกการดำเนินงานในระดับชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนการชุมชนให้ตระหนักถึงการป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการจราจรในเด็ก สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และเพื่อสร้างพฤติกรรมความปลอดภัยแก่เด็ก ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน มีกลุ่มเป้าหมายและเครือข่ายเป็นเด็กในกรุงเทพมหานคร ชุมชนปลอดภัย 10 ชุมขน และโรงเรียนปลอดภัย 20 แห่ง มีแนวทางการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้างค่านิยมในการใช้รถจักยานและการขับขี่อย่างปลอดภัยในชุมชนเสริมสร้างให้มีมาตรฐานของการขับขี่และการใช้อุปกรณ์เสริมป้องกันการบาดเจ็บในการขับขี่รถจักรยานเป็นต้น

ภาพ รณรงค์ขับขี่ปลอดภัย
              - โครงการเผยแพร่ความรู้เพื่อความปลอดภัยสู่ชุมชน เป็นโครงการสร้างเสริมความปลอดภัยของชมรมยุวชนบ้านตลาดเกรียบ อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความตระหนักถึงปัญหาอันตรายที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในชุมชน โดยกลุ่มชนรมเยาวชนของบ้านตลาดเกรียบได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชนโดยมีวิธีการดำเนินการเผยแพร่ความรู้ผ่านการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายของชุมชน เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนในเรื่องความปลอดภัย เช่น รณรงค์เมาไม่ขับ วิธีป้องกันการจมน้ำ และการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์เรื่องการสวมหมวกนิรภัยอย่างปลอดภัย รวมทั้งการจัดป้ายเตือนภัยตามจุดอันตรายต่างๆ อีกทั้งประสานกับหน่วยงาน เช่น สายตรวจชุมชน ในการเตรียมแผนเฝ้าระวังภัยในช่วงเทศกาลวันปีใหม่

ภาพ การจัดป้ายเตือนภัยตามจุดอันตราย





ภาพ สายตรวจชุมชน
 


              2. กิจกรรมหรือโครงการด้านความปลอดภัยจากปัญหาอาชญากรรมและโจรผู้ร้าย เช่น
             
 - โครงการเพื่อนบ้านเตือนภัย เป็นโครงการสร้างเสริมความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายในชุมชน ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์ให้ชุมชนช่วยกันดูแลและสอดส่องปัญหาความไม่ปลอดภัยในร่างกายและทรัพย์สินร่วมกัน โดยมีการรวมกลุ่มของเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน 3-4 หลังคาเรือน ผลัดกันดูแลบ้านและกำหนดจุดเตือนภัยที่รู้กันเฉพาะกลุ่ม พร้อมกับแจ้งข้อมูลให้กับตำรวจในท้องที่ได้รับทราบ เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป

            
   3. กิจกรรมหรือโครงการด้านความปลอดภัยจากสารเสพติด เช่น
             
 - โครงการทูบีนัมเบอร์วัน (TO BE NUMBER ONE) เป็นโครงการในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเสพติด ให้ประชาชนและเยาวชนในชุมชนทั่วประเทศไทยมีความตระหนักถึงพิษภัยของสารเสพติดและปลูกฝังค่านิยมในการต่อต้านสารเสพติด โดยมีการดำเนินงานผ่านกิจกรรมต่างๆ ภายใต้คำขวัญที่ว่า เป็นหนึ่ง โดยไม่พึ่งนาเสพติดเช่นจัดกิจกรรมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ของเยาวชนโดยการเล่นกีฬา เล่นดนตรี เต้นแอโรบิก และการทำกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ให้สังคมต่างๆ รวมทั้งมีการบำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติดให้กลับคืนสู่สังคมภายใต้โครงการ ใครติดยายกมือขึ้น

ภาพ กิจกรรมโครงการทูบีนัมเบอร์วัน
 
              - โครงการหัวใจไร้สาร เป็นโครงการในพระอุปถัมภ์ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนในชุมชนหรือโรงเรียนต่างๆ จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเสพติด มีการดำเนินงานภายใต้การรวมตัวกันของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด หรือชมรมหัวใจไร้สาร จนทำให้เกิดกระแสการสร้างค่านิยมในการต่อต้านการใช้สารเสพติดอย่างกว้างขวาง
นอกจากจะจัดโครงการแยกตามประเภทภัยอันตรายที่เกิดขึ้นในชุมชนจากตัวอย่างที่ได้นำเสนอดังกล่าวแล้ว นักเรียนสามารถจัดกิจกรรม หรือโครงการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชนของตนเองให้มีความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน ดังตัวอย่างของ โครงการเซฟตี้โซน (safety zone) ซึ่งเป็นโครงการสร้างเสริมความปลอดภัยของสถานีตำรวจนครบาลพญาไท ในพื้นที่ของเครือข่ายชุมชนปลอดภัย ชุมชนซอยสุเหร่า เพชรบุรี 7 กรุงเทพมหานคร มีการกำหนดพื้นที่ความปลอดภัยจากอุบัติเหตุในทุกๆ เรื่อง เช่น อุบัติเหตุทางการจราจร อุบัติเหตุจากการประกอบอาชีพ และกำหนดพื้นที่ความปลอดภัยจากอาชญากรรมและสารเสพติด โดยมีการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ เช่นจัดตั้งกลุ่มเยาวชนอาสาสมัครตำรวจบ้าน จัดตั้งจุดตรวจความไม่ปลอดภัยโดยให้กล้องโทรทัศน์วงจรปิดการเผยแพร่และอบรมการป้องกันอัคคีภัย การปฐมพยาบาล และการป้องกันสารเสพติดของชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น