วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กฎหมายคุ้มครองความปลอดภัย

กฎหมายคุ้มครองความปลอดภัย
               กฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีความปลอดภัย เพราะกฎหมายดังกล่าวช่วยควบคุม บังคับให้ประชาชน นายจ้าง นิติบุคคล หรือองค์กรต่างๆ ได้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของกฎหมาย ส่งผลทำให้เกิดพฤติกรรมความปลอดภัยในสังคมโดยส่วนรวม
              
 กฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยมีอยู่ด้วยกันหลายฉบับ ซึ่งในบทเรียนนี้จะกล่าวเฉพาะกฎหมายที่สำคัญๆ ดังนี้
          
     1. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่บัญญัติสิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการใช้แรงงาน และการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อให้ลูกจ้างทำงานด้วยความปลอดภัย มีสุขภาพอนามัยที่ดี ได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการตามสมควร
              
 กฎหมายนี้มี 116 มาตรา แบ่งเป็น 16 หมวด ซึ่งจะขอกล่าวเฉพาะหมวดที่มีความสำคัญต่อความปลอดภัยโดยตรงของลูกจ้าง ดังนี้
              
 หมวดที่ 2 ว่าด้วนการใช้แรงงานทั่วไป
ให้นายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้มีการประกาศหยุดตามประเพณีให้ทราบล่วงหน้า ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน ซึ่งรวมวันแรงงานแห่งชาติ ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า 6 วัน และมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด
              
 หมวดที่ 3 ว่าด้วยการใช้แรงงานหญิง
กำหนดประเภทของการทำงานที่ห้ามมิให้ลูกจ้างหญิงทำงานที่ส่งผลเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต รวมถึงการกำหนดการทำงานของหญิงมีครรภ์ และสิทธิลาคลอด
              
 หมวดที่ 4 ว่าด้วยการใช้แรงงานเด็ก
ห้ามมิให้จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง และการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องแจ้งพนักงานตรวจแรงงาน จัดทำบันทึกสภาพการทำงาน แจ้งพนักงานเลิกจ้าง รวมทั้งกำหนดประเภทงานที่ห้ามจ้างเด็กทำงาน และข้อกำหนดในการทำงาน
              
 หมวดที่ 8 ว่าต้องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย เพื่อเสนอความคิดเห็นรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานที่เกี่ยวข้อง และให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานการบริหารในเรื่องความปลอดภัย

            
   2. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541
              
 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองความปลอดภัยในการบริโภค การซื้อและการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสินค้าต่างๆ รวมถึงสิทธิของผู้บริโภคในการร้องเรียน และเรียกร้องความเป็นธรรมที่เกิดจากการซื้อและใช้สินค้าที่ไม่ปลอดภัยและไม่เป็นธรรม 
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภคที่น่าสนใจมีดังนี้
              
 - การกำหนดแต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับอันตรายจากการใช้สินค้า หรือได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งทำหน้าที่ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
              
 - การกำหนดการควบคุมฉลากของสินค้า ในมาตรา 30 และมาตรา 31 โดยกำหนดให้สินค้ามีการแสดงฉลาก เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในการได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินค้า รวมถึงลักษณะของรายละเอียดของตัวฉลากที่สินค้าแต่ละประเภทพึงมี เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

              
  3. พระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2542
              
 พระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย                 ซึ่งกำหนดให้ประชาชนและหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ได้อย่างปลอดภัยและเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม
              
 พระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
              
 มาตรา 14 ในกรณีฉุกเฉินเมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการหรือสั่งให้พนักงานดังเพลิงหรืออาสาดับเพลิงดำเนินการดังต่อไปนี้
              
 1. กำหนดบริเวณหรือสถานที่ที่อาจเกิดเพลิงไหม้
              
 2. จัดระเบียบการจราจรชั่วคราวในบริเวณที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันอัคคีภัย
              
 3. ปิดกั้นมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณหรือสถานที่ที่กำหนด
              
 4. เคลื่อนย้ายหรือทำลายสิ่งที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้
              
 มาตรา 23 ผู้ใดพบเพลิงเริ่มไหม้ให้แจ้งต่อเจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาอาคาร หรือสถานที่ที่เป็นต้นเพลิงเพื่อทำการดับเพลิง ถ้าไม่ปรากฏตัวบุคคลดังกล่าว และเพลิงนั้นอยู่ในสภาพที่ตนสามารถดับได้ ก็ให้ทำการดับเพลิงนั้นทันที ถ้าเพลิงนั้นอยู่ในสภาพที่ตนไม่สามารถดับได้ ให้รีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบโดยด่วน
              
 มาตรา 35 ผู้ใดแจ้งเหตุหรือให้อาณัติสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               มาตรา 36 ผู้ใดไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำลาย เคลื่อนย้าย กีดขวาง หรือทำให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้อาณัติสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เครื่องดับเพลิง หรือท่อส่งน้ำดับเพลิงต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 1 น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น